ณ วันที่ 09/10/2555
เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีข่าวหนึ่งที่น่าสนใจจึงขอหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน เป็นเรื่องการกำหนดให้ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ทำแผนในการฟื้นฟูรวมถึงแผนการปิดกิจการ ซึ่งถือเป็นการวางกรอบในอนาคตกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้นในภาคธนาคาร ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่าวิกฤติ Subprime ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเสียเงินภาษีไปเป็นจำนวนมากเพื่อที่จะพยุงไม่ให้ธนาคารขนาดใหญ่ล้มระเนระนาด จากนั้นเกิดคำถามมากมายว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่ที่ธนาคารประกอบกิจการโดยมีความเสี่ยงในการลงทุนสินทรัพย์ ปล่อยสินเชื่อด้อยคุณภาพเพื่อหวังผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ สุดท้ายพอขาดทุนก็ให้ประชาชนผู้เสียภาษีรับภาระ แต่ช่วงที่ธนาคารทำกำไรมหาศาลจากธุรกรรมที่มีความเสี่ยงผลประโยชน์ กลับตกอยู่ในมือคนไม่กี่กลุ่ม การออกกฎระเบียบในการควบคุมธนาคารนี้ถือเป็นการป้องกันเงินภาษีของประชาชนอเมริกันในอนาคต นอกจากนี้ยังทำให้ธนาคารจำเป็นต้องระมัดระวังมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งในมุมมองของผมก็ถือว่าเหมาะสมเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบจะทำให้เงินจำนวนมากที่ใช้ในการเก็งกำไรในตลาดลดลงหรือถูกควบคุมขณะที่การทำธุรกรรมที่สร้างผลตอบแทนสูง ๆ ที่เคยจูงใจนักเก็งกำไรก็จะลดลงตามความเข้มงวดนี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องกระทบต่อราคาสินทรัพย์อย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่แนวทางนี้ถือว่าจะสร้างเสถียรภาพให้ระบบการเงินไปได้อีกพักใหญ่ทีเดียว
ผู้เขียน คุณกมลธัญ พรไพศาลวิจิต
ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด
ที่มา : จุลสาร ฉบับเดือนกันยายน 2555
พิมพ์แจก สมาชิกสมาคมค้าทองคำ ทั่วประเทศ